2025-01-18

สโลว์ไลฟ์ไปกับการเดินทางด้วยรถไฟเส้นทางสายประวัติศาสตร์จากสถานีธนบุรีถึงเมืองกาญจน์

Move On ตะลอนมูฟ

***ภาพถ่ายประกอบบทความนี้ ถูกบันทึกภาพไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดโควิดในประเทศไทย

หนึ่งในเส้นทางคลาสิกและเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ คือ รถไฟสายใต้ ธนบุรี-เมืองกาญจน์

นั่งชิลล์ ๆ ใช้เวลาดื่มด่ำไปกับบรรยากาศสองฟากฝั่ง, ของเร่ขาย, สายลมที่ตีปะทะใบหน้าในขณะที่รถไฟกำลังวิ่ง

ตะลอนมูฟจัด “ทิพย์ทัวร์นั่งรถไฟไปเมืองกาญจน์” หนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวที่สักครั้งในชีวิตต้องได้ลอง!


จาก ‘สถานีธนบุรี’ สู่ ‘ศิริราชพิมุขสถาน’ สถานีฉากหลังของอมตะนวนิยาย “คู่กรรม”

เส้นทางรถไฟสายใต้ เริ่มต้นที่ สถานีธนบุรี เริ่มเดินรถครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน พ.ศ. 2446 และในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเปิดสถานีธนบุรี (แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกว่า “สถานีบางกอกน้อย“) เป็นสถานีรถไฟอาคารชั้นเดียวตั้งอยู่ตรงสามแยกปากคลองบางกอกน้อยกับแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นี่เคยถูกใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพของกองทัพญี่ปุ่นเพื่อลำเลียงกำลังพลและยุทโธปกรณ์ไปตามเส้นทางรถไฟ

ใครที่เคยอ่านนวนิยายอมตะ “คู่กรรม” ของคุณทมยันตี คงมีภาพจำเป็นอย่างดี โดยเฉพาะฉากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งบอมบ์ตรงสถานีบางกอกน้อยในคืนที่อังศุมาลินกำลังจะบอกรักโกโบริ สถานีธนบุรีแห่งนี้ถูกใช้เป็นฉากหลังเหตุการณ์สำคัญของนวนิยายเรื่องนี้

ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบที่ดินบริเวณสถานีธนบุรีให้แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้หยุดการเดินรถที่สถานีแห่งนี้ตั้งแต่ 4 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป ภายหลัง สถานีธนบุรีได้เปลี่ยนเป็น “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” โดยยังคงอนุรักษ์อาคารสถานี และเอกลักษณ์สำคัญของสถานีนั่นคือ “หอนาฬิกา” และนำหัวรถจักรไอน้ำมาตั้งตระหง่านอยู่ที่บริเวณหน้าหอนาฬิกา เพื่อเป็นการรำลึกถึงสถานีรถไฟธนบุรี

ส่วนสถานีต้นทางของเส้นทางรถไฟสายใต้จึงย้ายมาเริ่มต้นที่ “สถานีบางกอกน้อย” กระทั่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2547 การรถไฟแห่งประเทศไทยก็เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีธนบุรี” มาจนทุกวันนี้ (ออกจะสับสนนิด ๆ ระหว่างสถานีธนบุรีกับสถานีบางกอกน้อยที่สลับชื่อกันไปมาตลอดระยะเวลาร่วมร้อยปี)


นั่งรถไฟไทย เก๋ไก๋สไตล์ไทย

หนึ่งในเส้นทางสายประวัติศาสตร์ที่นักท่องเที่ยวต้องได้เดินทางสักครั้งคือ “การนั่งรถไฟไทยไปเมืองกาญจน์” ตามเส้นทางสายประวัติศาสตร์สู่สะพานข้ามแม่น้ำแคว, ทางรถไฟสายมรณะถ้ำกระแซ อันเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากภาพยนตร์เรื่อง “The Bridge on the River Kwai” ของสุดยอดผู้กำกับ เดวิด ลีน

จำนวน 33 ชานชาลาที่ขบวนรถไฟที่ 257 (เที่ยวขึ้น) จะพาเราออกเดินทางจากสถานีธนบุรีไปยังจุดหมายปลายทางคือ สถานีน้ำตก เช็คตารางเดินรถไฟโดยปกติจะออกจากสถานีธนบุรีเวลาประมาณ 7.50 น. และไปถึงสถานีน้ำตกในเวลาประมาณ 12.35 น. (แต่เที่ยวที่ผมเดินทางปาเข้าไปบ่ายโมงครึ่ง!!!) ค่าตั๋วรถไฟราคา 39.- (ชาวต่างชาติ 100.-) ส่วนขากลับ (เที่ยวล่อง) จะเป็นรถไฟขบวนที่ 258

สถานีสำคัญ ๆ ที่ตลอดรายทางได้แก่ ธนบุรี-ตลิ่งชัน-ศาลายา-นครปฐม-หนองปลาดุก-ท่าเรือน้อย-กาญจนบุรี-สะพานข้ามแม่น้ำแคว-วังเย็น-บ้านเก่า-ท่ากิเลน-ถ้ำกระแซ-วังโพธิ์-เกาะมหามงคลและ น้ำตก

สิ่งสำคัญที่นักท่องเที่ยวเส้นทางรถไฟนี้ต้องมีคือ “ใจเย็น” เหมือนที่มักท่องกันว่า “ถึงก็ช่าง…ไม่ถึงก็ช่าง…” ลองใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์จริง ๆ ไปกับรถไฟไทย ตลอดรายทางคุณจะได้พบกับ ไอร้อนที่ปะทะเข้าใบหน้า, บรรดาผู้คนหลากหลายที่โดยสาร (ถ้าไปวันธรรมดาจะคนน้อย…ผมชอบ), พ่อค้าแม่ค้าเร่ที่ใช้ชีวิตตอกบัตรบนรถไฟจากสถานีหนึ่งไปลงอีกสถานีหนึ่ง จากขบวนหนึ่งไปอีกขบวนหนึ่ง และก็ล่องกลับมาเป็นเชนนี้ ก๋วยเตี๋ยวห่อ, ไก่ย่าง-ส้มตำ, ถั่วต้ม, โอเลี้ยง-ชาดำเย็นโบราณ ฯลฯ ให้ได้ทานกันบนรถไฟโดยมีทิวทัศน์ภายนอกทั้งทุ่งนาสีเขียว ทุ่งหญ้าแห้งสีน้ำตาล, โขดหินที่เฉียดข้างโบกี้รถไฟจนยื่นนิ้วไปแตะได้ (แต่ไม่ควรทำเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุ) สลับกับการพักผ่อนด้วยการหาพ็อคเก็ตบุ๊คสักเล่ม, ฟังเพลงใน spotify ไปด้วยเสมือนหนึ่งเรากำลังเล่น MV เพลงโปรดสักเพลง ที่ตัวละครเดินทางด้วยรถไฟไปที่ไหนสักแห่ง เพื่อหลบหนีจากปัญหาอะไรสักอย่าง

สำหรับคนที่เวลาน้อย ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือ ขับรถหรือนั่งรถทัวร์ไปลงสถานีกาญจนบุรี ดักรอรถไฟขบวน 257 ที่วิ่งมาจากสถานีธนบุรี แล้วนั่งรถไฟไปสถานีที่เหลือ แล้วก็นั่งเที่ยวกลับ (หรือเที่ยวล่อง) ก็จะได้อารมณ์นั่งรถไฟเช่นเดียวกันแต่ประหยัดเวลากว่าเดิม


สะพานข้ามแม่น้ำแคว สะพานแห่งสันติภาพ

หนึ่งในไฮไลท์ของการนั่งรถไฟคือ “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” ช่วงเวลาที่รถไฟเคลื่อนผ่านสะพานข้ามแม่น้ำแคว สะพานประวัติศาสตร์ของเส้นทางรถไฟสายมรณะ

สะพานข้ามแม่น้ำแคว สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสะพานโครงเหล็กครึ่งวงกลม มีโครงสร้างแบบถักทอภายในครึ่งวงกลม ตัวเหล็กทำจากเหล็กมลายูแบบชิ้นนำมาประกอบภายหลัง เสาตอม่อเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยแรงงานเชลยศึกของทหารฝ่ายสัมพันธมิตร จำนวนประมาณ 61,700 คน และกรรมกรชาวไทย, พม่า, ญวน, ชวา, มลายู, อินเดีย ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 1 เดือน เปิดเป็นทางการเมื่อ 25 ธันวาคม พ.ศ.2486 ก่อนจะมาถูกทิ้งระเบิดโดยเครื่องบินของสัมพันธมิตรในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2487

ต่อมาภายหลังสะพานข้ามแม่น้ำแคว ถูกยกย่องให้เป็น “สะพานแห่งสันติภาพ” และเป็นหนึ่งอีเวนท์ท่องเที่ยวของปี “งานแสงสีเสียงสะพานข้ามแม่น้ำแคว


เส้นทางรถไฟสายมรณะ เลือด น้ำตา และแรงสามัคคี

ถัดจากสถานีสะพานข้ามแม่น้ำแควแล้ว ขบวนรถไฟก็เดินทางต่อไปยังอีกหนึ่งเส้นทางประวัติศาสตร์ที่สวยงาม หวาดเสียว และเต็มไปด้วยทั้งเลือดและน้ำตาของบรรดาทหารเชลยศึกสัมพันธมิตร “เส้นทางรถไฟสายมรณะ” เพราะมีคำกล่าวที่ว่า “หากนับหมอนหนุนรางรถไฟมีเท่าไหร่ จำนวนผู้คน-เชลยศึกที่ถูกเกณฑ์มาสร้าง ทางรถไฟ สายนี้ก็ตายไปเท่านั้น” เพราะเบื้องหลังการก่อสร้างครั้งนี้คือ เลือด น้ำตา และความสามัคคีของเชลยศึกที่ร่วมกันสร้างทางรถไฟสายนี้ได้สำเร็จ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ทางรถไฟสายมรณะ (The Death Railway)”

ส่วนที่สวยที่สุดของเส้นทางรถไฟสายมรณะอยู่ในช่วงสถานีถ้ำกระแซ ที่รถไฟจะวิ่งช้าลงเพื่อให้ผู้โดยสารได้ชมความงดงามของเส้นทางสายนี้

“ถ้ำกระแซ” เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง เคยถูกใช้เป็นที่พักของบรรดาเชลยศึกแรงงานสร้างทางรถไฟ เป็นสะพานไม้ก่อสร้างเลียบหน้าผาความยาวประมาณ 450 เมตร บริเวณนี้เป็นส่วนที่ยากที่สุดในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ เพราะลักษณะของภูมิประเทศก่อสร้างได้ยาก มีทั้งหน้าผาสูงชัน และแม่น้ำอันคดเคี้ยวเชี่ยวกราก กองทัพญี่ปุ่นต้องการสร้างเส้นทางรถไฟนี้เพื่อลำเลียงยุทโธปกรณ์ไปยังประเทศพม่า

หลวงพ่อถ้ำกระแซ ไหว้พระสักการะของพรหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์แห่งถ้ำเชลยสงคราม

บริเวณถ้ำกระแซจะมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถมองเข้าไปในถ้ำจากบนรถไฟได้อีกด้วย แต่ถ้าลงสถานีนี้ก็อย่าลืมมาไหว้สักการะนะครับ

เส้นทางรถไฟในช่วงสถานีถ้ำกระแซจัดเป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอินของนักท่องเที่ยว ที่ไม่ต้องการเที่ยวน้ำตก ก็ให้ลงที่สถานีนี้ได้เลย เดินเที่ยวชมความงามและถ่ายภาพในหลาย ๆ จุด รับประกันความงดงาม


ประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต “นั่งรถไฟไทย” สถานีปลายทาง

หลายคนเลือกจะนั่งรถไฟต่อไปยังสถานีน้ำตก แต่หลายคนก็เลือกจะลงสถานีนี้เพื่อชมสัมผัสเส้นทางรถไฟสายมรณะด้วยการเดินเท้าไปจนสุดแนวหุบเหว หรือหาโอกาสมาที่นี่อีกสักครั้งด้วยการขับรถมา ก็จะได้สัมผัสบรรยากาศแบบครบถ้วนครับ

การเดินทางด้วยรถไฟถือเป็นประสบการณ์ที่ต้องมาสัมผัสด้วยตนเองเท่านั้นถึงจะพบกับความคลาสิกแบบ “รถไฟไทย”

หลังจากกลับตีรถไฟเที่ยวกลับจากสถานีน้ำตกกลับถึงสถานีธนบุรีก็เป็นเวลาหกโมงเย็น แม้จะใช้เวลาเกือบหนึ่งวันหมดไปกับรถไฟไทย แต่เชื่อเถอะว่าคุณจะได้รับประสบการณ์อันมีค่าเหมือนที่ผมได้บอกเล่าไปหมดแล้วใน “Train to เมืองกาญจน์”

ชีวิตก็เหมือนกับการเดินทางด้วยรถไฟ อาจมีเร็วบ้าง ล่าช้าบ้าง ไม่เป็นดังใจต้องการ บางครั้งเราก็ต้องใจเย็นเพื่อรอคอยโอกาส หรือใครบางคน แต่ละสถานีจะมีผู้คน และบรรยากาศที่แตกต่าง แต่ละช่วงชีวิตของเราก็แตกต่างไปเช่นเดียวกัน เพราะเราทุกคนเดินทางไปตาม “เส้นทางสายชีวิต”

Move On ตะลอนมูฟ

ขอบคุณที่มาข้อมูล: Wikipedia, ศิลปวัฒนธรรม, Kanchanaburi Center, thailandtourismdirectory.go.th, thai.tourismthailand.org

Photo by Movie

15 thoughts on “Move On: Train to เมืองกาญจน์

  1. เส้นทางนี้คลาสสิก​จริงๆไปเที่ยวมาแล้ว​ ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลาย​

  2. I am a website designer. Recently, I am designing a website template about gate.io. The boss’s requirements are very strange, which makes me very difficult. I have consulted many websites, and later I discovered your blog, which is the style I hope to need. thank you very much. Would you allow me to use your blog style as a reference? thank you!

  3. I am a website designer. Recently, I am designing a website template about gate.io. The boss’s requirements are very strange, which makes me very difficult. I have consulted many websites, and later I discovered your blog, which is the style I hope to need. thank you very much. Would you allow me to use your blog style as a reference? thank you!

  4. I may need your help. I tried many ways but couldn’t solve it, but after reading your article, I think you have a way to help me. I’m looking forward for your reply. Thanks.

Comments are closed.